สายชาร์จพังอันตรายถึงชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในอุปกรณ์เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนที่มักถูกมองข้ามคือ เคเบิ้ลชาร์จเจอร์หรือสายชาร์จนั่นเอง ทั้ง ๆ ที่มันถูกใช้งานอยู่ตลอด เป็นระยะเวลานาน อาจจะด้วยความที่อาการเสื่อมสภาพนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ หรือความใส่ใจของผู้ใช้งานเองที่ค่อนข้างละเลย อย่างไรก็ดีสายชาร์จที่ชำรุดนั้นเป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งกับโทรศัพท์มือถือและชีวิตของผู้ใช้งานเอง เรามักเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ ที่โทรศัพท์เกิดการระเบิด ผู้เคราะห์ร้ายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกไฟรั่ว ไฟดูดโดยสายชาร์จโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นเราจึงควรทำตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อตรวจสอบว่าสายชาร์จของเรายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่

ตรวจสอบด้วยสายตาและการสัมผัส ตรวจสอบดูว่าปลายทั้งสองด้านที่เป็นหัวเสียบมีส่วนไหนชำรุด หักงอ หรือไม่? มีผงฝุ่นสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันหรือเปล่า? หากมีให้ใช้แปรงสีฟันหรือแปรงอื่น ๆ ที่มีลักษณะขนที่นุ่มนวลจัดการปัดออก หรือใช้ไม้จิ้มฟันค่อย ๆ แคะออกอย่างเบามือ จากนั้นใช้มือรูดช้า ๆ ไปตามแนวของสายเพื่อหาจุดที่อาจจะเกิดการผุของฉนวนหุ้มสายหรืออาการบวมของฉนวนดังกล่าวซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยกรณีนี้หากพบเจอส่วนชำรุดแนะนำให้ซื้อของใหม่มาเปลี่ยนในทันที ไม่ควรละเลยเพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เสียบสายชาร์จเข้ากับคอมพิวเตอร์ หลังจากตรวจสอบเบื้องต้นในประการแรกแล้วไม่พบอาการชำรุดภายนอกใด ๆ ต่อมาให้เชื่อมต่อโทรศัพท์เข้ากับคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะแจ้งเตือนอุปกรณ์ต่อพ่วงทันที จากนั้นให้ลองบิดงอสายไป-มาเบา ๆ ถ้าสายชาร์จยังปรกติ จะไม่มีอาการขาดการเชื่อมต่อหรือหลุดให้เห็น แต่ถ้าหากคอมพิวเตอร์แจ้งเตือนซ้ำ ๆในขณะที่สายชาร์จยังเชื่อมต่อคาไว้อยู่ หรือเมื่อบิดงอแล้วการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ทั้งสองขาดออกจากกัน ก็เชื่อได้ว่าสายชาร์จเส้นนั้นเริ่มมีปัญหาแล้ว ในกรณีนี้สังเกตด้วยว่าช่องเสียบ usb ที่ใช้ทดสอบต้องไม่หลวมอีกด้วย

ติดตั้งแอปพลิเคชัน ampere แอปพลิเคชันตัวนี้เป็นการตรวจสอบว่าสายชาร์จของเรายังจ่ายไฟได้ปกติหรือไม่ โดยเมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว ให้ทำการเสียบชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์แล้วเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาดูตัวเลข min/max และกระแสไฟในขณะนั้น ว่าค่าที่ได้อยู่ระหว่างค่าทั้งสองหรือไม่? เช่น min 1040mA max 1060mA ค่าตัวเลขกลางที่ได้ควรแสดงอยู่ระหว่าง 1040-1060mA ถ้าเป็นตามนั้นก็แปลว่าสายชาร์จยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากจำนวนตัวเลขมีความแกว่งมาก ไม่นิ่ง ต่ำกว่าค่า min ลงไป อาจต้องลองไล่เปลี่ยนอุปกรณ์ในการทดสอบทีละชิ้น เพราะส่วนนี้อาจจะเกิดจากปัญหาในอุปกรณ์อื่น ๆ ได้เช่นกัน ไม่ใช่เพียงสายชาร์จเท่านั้น โดยปัจจัยเหล่านี้เกิดได้จากทั้งหัวอะแด็ปเตอร์ เต้าเสียบ และแบตเตอรี่ หากมีอุปกรณ์ใดชำรุดเราจะทราบแน่ชัดด้วยการทดสอบในขั้นตอนนี้ทันที

เหล่านี้เป็นวิธีการตรวจสอบสายชาร์จด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ และไม่ใช่เพียงแค่สายชาร์จเก่าที่เราใช้อยู่เท่านั้นหากแต่ควรทำการทดสอบกับสายชาร์จที่ยังใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าหากเราทราบข้อมูลเหล่านี้ ก็จะคลายกังวลและอุ่นใจไปได้มากเลยทีเดียว