โรคของคนยุคไอที ที่เกิดแก่ผู้ใช้สมาร์ทโฟน

โรคภัยความเจ็บป่วยเป็นเรื่องที่มนุษย์อย่างเรา ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งนับวันก็ยิ่งมีโรคแปลก ๆ เกิดขึ้น แถมเกิดขึ้นกับเยาวชนไล่ช่วงอายุลงไปเรื่อย ๆ ใช่เพียงแต่โรคติดต่อและโรคระบาดแบบมีพาหะเท่านั้นที่บั่นทอนเรา ในยุคเรืองรองของเทคโนโลยีนี้โรคที่เกิดขึ้นโดยสมาร์ทโฟนก็สร้างความทุกข์ความรำคาญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผู้ใช้ที่ติดสมาร์ทโฟนและใช้งานเป็นเวลานาน ๆ

โรคทางสายตา การจ้องมองจอนาน ๆ อันตรายอย่างยิ่งกับสายตา โดยเฉพาะการรับแสงสีฟ้าที่ไม่เป็นมิตรกับประสาทการมองเห็น อาการระคายเคืองในดวงตา ปวดหัวโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือการมองเห็นภาพซ้อนเป็นลางบอกเหตุที่ควรพึงระวัง โดยเฉพาะโรควุ้นในตาเสื่อมซึ่งเดิมทีเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยที่วุ้นในตาเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่ปัจจุบันกลับพบโรคนี้ในคนหลายช่วงวัยแม้แต่วัยรุ่นก็ตาม นอกจากนี้การจ้องมองจอนาน ๆ ยังอาจทำให้เกิดอาการเครียด ตาแห้ง สายตาเสีย และตาอักเสบอีกด้วย

โรคสมาธิสั้น โรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นกับเด็กที่ผู้ปกครองให้อยู่กับโทรศัพท์มือถือมากเกินไป รับชมวิดีโอบนสื่อออนไลน์เป็นเวลานาน ๆ โรคนี้ทำให้เด็กมีอาการอยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย ไม่อดทนต่อสิ่งยั่วใจ ไม่สามารถทำอะไรเป็นเวลานาน ๆ ได้ อย่างการเขียนหนังสือ ทำงานที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้กระทั่งการเรียนหนังสือ เป็นอุปสรรคทำให้พัฒนาการในเด็กคนนั้น ๆ ล่าช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน ระยะยาวจะกลายเป็นเด็กก้าวร้าว สอนไม่ได้ และที่น่าตกใจคือการพบเด็กๆในประเทศไทยเป็นโรคนี้กว่าห้าแสนคน ซ้ำร้ายกว่านั้น 60% ของเด็ก ๆ ที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่หายขาดแม้จะเจริญวัยเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม

โรคโนโมโฟเบีย เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดกับผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนจนเข้าขั้นเสพย์ติด ซึ่งใกล้เคียงกับอาการเสพย์ติดโซเชียล เพียงแต่ผู้ป่วยโมโนโฟเบียอาจไม่ใช่ผู้ที่ขลุกตัวอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์ตลอดเวลา เช่นโพสต์ข้อความทุกสามถึงห้านาที ไล่ตอบคอมเม้นต์ในเพจต่าง ๆ ทั้งวัน ผู้ป่วยโรคนี้อาจไม่ได้ชอบการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็น พวกเขาอาจชอบดูรูป ดูวิดีโอ อ่านเรื่องราวต่าง ๆ หรือเล่นเกม กล่าวคือผู้ป่วยโรคนี้มีกิจกรรมให้ใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลาจนขาดไม่ได้ เมื่อสมาร์ทโฟนเสีย แบตหมด คนเหล่านี้จะทนไม่ได้ แสดงอาการกระวนกระวายใจ เครียด เกรี้ยวกราด รู้สึกเศร้าหมอง ความรุนแรงในการแสดงออกต่างกันไปตามระดับความหนักเบาของอาการ

โรคทางกาย อาการปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดเมื่อยบริเวณต้นแขน หมอนรองกระดูกเสื่อม ชาตรงปลายนิ้ว หรือนิ้วล็อก ล้วนเป็นอาการที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ใช้สมาร์ทโฟนในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน สร้างความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาณ รำคาญใจเป็นอันมาก แม้การนวดจะทำให้ความเจ็บปวดทุเลาเบาบางลงได้ แต่การไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตก็เท่ากับกวักมือเรียกให้อาการเจ็บป่วยนี้กลับมาได้ตลอดเวลาเช่นกัน

เหล่านี้เป็นโรคที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร ทั้งตัวเอง คนรอบข้าง หรือคนที่เราห่วงใย ทางที่ดีเราและคนรอบข้างนี่แหละที่ควรตักเตือนกันและกันเมื่อรู้สึกว่าคนใดในกลุ่มเราใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากเกินไป พึงระลึกไว้เสมอว่าสุขภาพไม่ใช่สิ่งที่เงินซื้อหาได้ ฉะนั้นนอกจากมือถือแล้วร่างกายเราก็ควรถูกใช้แต่พอดีด้วยเช่นกัน