เกษตรกรยุคใหม่ใช้สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวทำทุกอย่างได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราหลายด่านเหลือเกิน ทั้งในแง่สังคม ความบันเทิง ไม่เว้นแม้แต่การทำงานและการติดต่อค้าขาย เทคโนโลยีที่ทำให้โลกแคบลงนี้ใช่จะมีความสำคัญกับสังคมเมืองหรือเฉพาะหนุ่มสาวชาวออฟฟิศเท่านั้น ตอนนี้มันได้กลายเป็นส่วนสำคัญในด้านเกษตรกรรมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเตรียมดิน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดจำหน่ายแบบไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป ใครจะคิด ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่านี้ทำได้ด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว

เกษตรกรยุคใหม่ได้อานิสงส์ไปเต็ม ๆ จากเทคโนโลยีทุกวันนี้ การเกษตรที่เรียกว่า smart farmer หรือการเกษตรแม่นยำ เริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศไทย เมื่อค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เจ้าใหญ่อย่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ dtac ร่วมมือกับบริษัท รักบ้านเกิด พัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อ farmer info ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อโครงการ dtac smart farmer ติดอาวุธให้เกษตรกรไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม แอปพลิเคชันดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรไทยโดยเฉพาะกลุ่ม young smart farmer คนรุ่นใหม่ที่หันมาทำการเกษตรเป็นอาชีพ เพราะมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในการใช้งานแอปพลิเคชันและสมาร์ทโฟนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยคุณสมบัติเด่นของแอปพลิเคชันนี้ที่ทำให้โดนใจเกษตรกรทั้งน้อยใหญ่คือ

1.การพยากรณ์อากาศเฉพาะพื้นที่

2.ตรวจสุขภาพพืช

3.วางแผนเพาะปลูก

ความสามารถของแอปพลิเคชันนี้คือการเจาะจงลงไปในพื้นที่ของผู้ใช้ได้ แถมมีความแม่นยำระดับแปลงต่อแปลง ทั้งยังรายงานอุณหภูมิ โอกาสมีฝนและปริมาณน้ำที่ต้องการได้เป็นรายชั่วโมง สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ถึงเจ็ดวัน สามารถใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม EU-sentinel กับ NASA-Lancet ช่วยหาความผิดปกติในแปลงปลูกได้แบบเรียลไทม์ ช่วยวางแผนในการเพาะปลูกในรูปแบบของอินโฟกราฟิกเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจโดยเฉพาะผู้ใช้งานที่ยังไม่ค่อยคุ้นชินกับสมาร์ทโฟน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงมาจากเอกสารวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การวางแผนจึงมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน และด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิต ผลิตผลที่ได้มีคุณภาพ

กระบวนการสุดท้ายในการจำหน่ายโครงการดังกล่าวยังช่วยหาช่องทางในการจำหน่าย ช่วยคิดช่วยออกแบบแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งลูกค้าส่วนหนึ่งก็เป็นผู้เข้าร่วมโครงการด้วยกันเองเรียกว่าสิ่งนี้เป็นคอมมูนิตี้หรือเครือข่ายของเกษตรกรขนาดย่อม ๆ ด้วยก็ว่าได้ ส่วนใครที่อยากได้ช่องทางจำหน่ายผลผลิตผ่านแอปพลิเคชันเพิ่มเติมก็ยังมี แอปพลิเคชัน freshket ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เกษตรกรสามารถนำผลผลิตเข้าไปขายเป็นวัตถุดิบให้ห้างร้าน ร้านอาหาร หรือโรงแรมได้โดยตรง ตัวแอปพลิเคชันนี้รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ android และ iOS

ตั้งแต่การซื้อหาเมล็ดพันธุ์ วางแผน เพาะปลูก เก็บเกี่ยว จำหน่าย เห็นได้ชัดว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมดสามารถดำเนินการได้ด้วยสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว นี่คือการเกษตรในยุค 4.0 อย่างแท้จริง ลองใตร่ตรองดูว่ายิ่งถ้าหากเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลกว่าในตอนนี้เช่น การเข้ามาของเครื่อข่าย 5G หรือมีเครื่องมือทางการเกษตรควบคุมด้วยสมาร์ทโฟนเข้าสู่เมืองไทย บางทีในอนาคตเกษตรกรอาจไม่ใช่อาชีพที่ลำบากและยากจนอีกต่อไปก็เป็นได้